ชมความมหัศจรรย์แห่งองค์พระธาตุที่ตั้งอยู่บนชะง่อนผาสูง โดยมีหินก้อนใหญ่ซึ่งมีฐานคอดกิ่วราวกับจะแยกขาด จากกันวางตัวอยู่บนหน้าผานั้น ซึ่งชาวบ้านต่างพากันขนานนามว่า “เจดีย์หินพระอินทร์แขวน” อีกทั้งหินที่อยู่บนดอยนี้ยังมีสีดำหรือน้ำตาลไหม้ บางคนจึงเรียกพระธาตุองค์นี้ว่า “พระธาตุดอยดินจี่” ซึ่งหมายถึงดินที่ถูกไฟไหม้นั่นเอง ทั้งนี้ ภายในเจดีย์มีพระธาตุประดิษฐานอยู่ ที่เรียกกันว่า “พญาล่อง” ซึ่งเป็นที่เคารพบูชาของ ชาวจังหวัดตากและจังหวัดใกล้เคียง และในบริเวณวัดพระธาตุฯ ยังมีเรือโบราณที่มีอายุประมาณ 200 ปี พบเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2539 โดยชาวบ้านวังตะเคียนได้ช่วยกันกู้ขึ้นมาเก็บรักษาไว้ที่เชิงดอยดินจี่เรือลำนี้เป็นเรือขุดจากไม้ซุงทั้งต้น กว้าง 126 เมตร ยาว 13.35 เมตร สูง 0.52 เมตร หนา 0.04 เมตร ส่วนหัวเรือและท้ายเรือมีความยาวเท่ากัน ประมาณ 1.20 เมตร ภายในเรือมีช่องสำหรับสอดไม้กระดานเพื่อทำเป็นที่นั่งจำนวน 4 ช่อง โดยมีระยะห่างไม่เท่ากัน ซึ่งจากรูปและขนาดของเรือ สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นเรือที่ใช้ในการขนส่งอาหารหรือสินค้าระหว่างทั้งสองฝั่งแม่น้ำเมย ไม่เพียงเป็นความมหัศจรรย์ที่น่าทึ่งเท่านั้น หากเมื่อมองลงมาจากองค์พระธาตุ คุณจะพบทิวทัศน์ที่งดงาม ด้วยความลงตัวแม่น้ำเมยเคียงคู่กับเทือกเขาสลับซับซ้อนในเขตประเทศเมียนมาร์ และด้วยศรัทธาในองค์พระธาตุ ชาวอำเภอแม่สอดและผู้คนฝั่งพม่าจะจัดงานนมัสการพระธาตุหินกิ่วดอยดินจี่ขึ้นเป็นประจำในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี ตำนานแห่งพระธาตุ มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า ผู้สร้างเป็นชาวกะเหรี่ยงในสมัยที่อังกฤษปกครองพม่า ชื่อว่านายพะส่วยจาพอ ได้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนามาก เขานำเงินตราเหรียญรูปีบรรทุกหลังช้างมาเพื่อหาที่สำหรับสร้างเจดีย์ถวาย เป็นพุทธบูชา ครั้นมาถึงบริเวณผาหินกิ่ว (หรือดินจี่) ก็มองเห็นหินก้อนใหญ่ตั้งอยู่บนหน้าผาสูงชัน และมีลักษณะคล้ายกับเจดีย์พระอินทร์แขวนในประเทศพม่า จึงได้ทำการก่อสร้าง เมื่อสร้างเสร็จแล้วได้นำพระสารีสริกธาตุบรรจุไว้ในองค์เจดีย์พร้อมกับพระพุทธรูปทองคำจำนวน 5 องค์