


จากการสำรวจของกรมศิลปากร เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2502 ได้มีการสันนิษฐานว่าที่นี่คือที่ตั้งของเมืองฉอดเก่า โดยมีการพบซากเมืองโบราณอยู่ในป่าด้านทิศใต้บ้านแม่ต้านริมฝั่งแม่น้ำเมย และภายในเมืองโบราณมีแนวเทินดินที่มีคูคั่นเป็นกำแพงเมืองโบราณ ทางด้านทิศตะวันตก มี 3 ชั้น มีโบสถ์ วิหาร และเจดีย์ 10 แห่ง บ่อน้ำสี่เหลี่ยมกรุอิฐ ลึกประมาณ 20 เมตร 1 บ่อ ลานกว้างบนยอดดอยมีพระเจดีย์แบบเชียงแสน 1 องค์ นอกจากนี้ยังพบก้อนอิฐส่วนมากเป็นแบบสุโขทัย มีอิฐแบบอยุธยาปนอยู่บ้าง ไม่มีปูนสอ รอบโบสถ์ พบกองอิฐวางประจำอยู่ทิศทั้ง 8 เหมือนกับที่พบที่โบราณสถานที่บางแห่งในอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ใบเสมาพบแผ่นเดียวที่ดอยพระธาตุ พบแผ่นสัมฤทธิ์มีลวดลายสำหรับประดับองค์ระฆังแบบเชียงแสน นอกจากนี้ยังพบพระพุทธรูปแบบสัมฤทธิ์แบบเชียงแสนหลายองค์ และภายในบริเวณเมืองเก่ามีศาลเจ้าอโมกขละ มีวัดเก่าที่ร้างหลายแห่ง และมีเจดีย์เก่าที่สำคัญ คือ พระธาตุเมืองเก่าห้วยลึก ซึ่งได้บูรณะหลายครั้งเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2412 โดยชาวกะเหรี่ยงชื่อนายพะสุแฮ ต่อมาปี พ.ศ. 2470 พระอภิชัย (ปี๋) หรือ ประขาวปี๋ ได้บูรณะขึ้นใหม่โดยทำเป็นเจดีย์ทรงสี่เหลี่ยม และมีงานประเพณีสรงน้ำพระธาตุ ในวันที่ 19 เมษายนของทุกปี เรียกว่า วันน้ำทิพย์ของชาวบ้านแม่ต้านนอกจากนี้บริเวณใกล้เคียงยังมีโบราณสถานที่เรียกว่า โบราณสถานทุ่งกากอกพบโบสถ์ วิหาร เจดีย์ และพระพุทธรูปสัมฤทธิ์แบบเชียงแสนกว่า 400 องค์